เครื่องรางของขลังประจำตัวนักมวย

เครื่องรางของขลังประจำตัวนักมวย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

เครื่องรางของขลังประจำตัวนักมวย



ในอดีตมวยไทยนั้นเป็นสิ่งสำคัญของลูกผู้ชาย เพราะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า การมีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันเชื่อว่าจะช่วยให้การต่อสู้ได้รับชัยชนะและปลอดภัยจากคมดาบ ดังนั้นเครื่องรางของขลังจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่นักมวยต้องมี

 

1. มงคล

     มงคลทำด้วยสายสิญจน์ หรือผ้าดิบที่เกจิอาจารย์เป็นผู้เขียนอักขระหัวใจมนต์ คาถาและเลขยันต์ แล้วถักหรือม้วนพันด้วยด้าย หรือด้ายสายสิญจน์ ห่อหุ้มด้วยผ้าซึ่งผ่านพิธีกรรมจากครูบาอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมทำเป็นวงสำหรับสวมศีรษะ โดยรวบเป็นหางยาวไว้ข้างหลัง

     ในอดีตมีการกล่าวถึงการใช้ไสยศาสตร์ในพิธีทำมงคล ดังนั้นการสร้างมงคลแบบที่ยาก และมีอำนาจแบบไสยศาสตร์เร้นลับที่สุด จะเป็นห่วงวงกลมทำมาจาก “งูกินหาง” อาจจะเป็นงูหนึ่งตัวกินหางของมันเองหรืองูสองตัวกินหางซึ่งกันและกันก็ได้ การกินหางของงูเกิดจากอำนาจสะกดจิต หรือพลังจิตเคลื่อนย้ายสิ่งของ แล้วนำห่วงกลมที่เกิดจากงูกินหางนั้นไปย่างไฟจนแห้งสนิท จากนั้นนำไปแช่น้ำมนตร์ ซึ่งหุงมาจากน้ำมันมะพร้าวผสมด้วยว่านยาสมุนไพรบางอย่าง แล้วจึงพันไว้ด้วยผ้ายันต์ หรือด้ายสายสิญจน์หุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง เล่ากันว่าพิธีกรรมเร้นลับสำหรับการสร้างมงคลเครื่องผูกศีรษะเหล่านี้ ใช้อำนาจไสยศาสตร์ให้เคลื่อนไหวสำเร็จขึ้นมาทั้งสิ้น ปัจจุบันสูญหายการถ่ายทอดไปหมดแล้ว

     มงคลถือเป็นเครื่องรางให้สิริมงคลและคุ้มกันอันตราย ในอดีตใช้สวมศีรษะในขณะชก บางคนสวมสองอันก็มี เวลาชกมวยหากมงคลหลุดจากศีรษะ ฝ่ายตรงข้ามก็จะหยุดชกเพื่อให้เก็บมงคลมาสวมใหม่ แล้วจึงชกต่อเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาจะไม่มีการซ้ำเติมกันในขณะก้มลงเก็บมงคลเป็นอันขาด ส่วนนักรบในอดีตก็จะสวมมงคลออกรบโดยสวมไว้ที่ศีรษะหรือคล้องคอ เวลาไม่ได้ใช้ก็จะเก็บรักษาไว้ในที่สูง เช่น บนหิ้ง บนตู้ หรือใส่ตะกร้าแขวนไว้สูง ๆ ในบริเวณที่เป็นห้องพระ หรือหัวนอน เพื่อบูชาและป้องกันการสูญหาย หรือป้องกันใครเดินข้ามเพราะจะทำให้คาถาอาคมเสื่อมได้

 

2. ประเจียด

     ใช้ผ้าสาลู (ผ้าขาวบางเนื้อดี) หรือผ้าดิบสีขาว หรือสีแดงตัดเป็นสามเหลี่ยมลงเลขยันต์มหาอำนาจ ส่วนใหญ่จัดอยู่ในชุดวิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด คุ้มกำลัง ภาษาที่ใช้เขียนมักเป็นอักขระโบราณ เช่น อักษรขอม อักษรเทวนาครี ซึ่งพระครูหรือเกจิอาจารย์จะเป็นผู้เขียน และทำพิธีพุทธาภิเษก เช่นเดียวกับพระเครื่องหรือพระบูชา ม้วนหรือถักพันด้วยด้าย อาจใส่ว่าน ตะกรุด หรือเครื่องรางของขลังชนิดอื่นไว้ข้างในผ้าประเจียดก็ได้ “เป็นเครื่องรางคุ้มกันตัวใช้ผูกติดกับต้นแขนตลอดเวลาการแข่งขันชกมวย”

 

3. ผ้ายันต์

     คือผ้าดิบหรือผ้าเนื้อบางสีขาวหรือสีแดง เขียนอักขระเลขยันต์ และรูปภาพต่าง ๆ โดยเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านเชื่อถือว่ามีคาถาอาคมแก่กล้า วิธีทำคล้ายผ้าประเจียดแต่ผ้ายันต์มักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า “ใช้พกติดตัว หรือพันเป็นผ้าประเจียดก็ได้”

 

4. พระเครื่อง

     ทำด้วยโลหะ ผงปูน ดิน หรืออาจใช้วัตถุหลายชนิดจากแหล่งต่าง ๆ ที่เป็นที่เคารพเชื่อถือของประชาชน นำมารวมกัน บางครั้งอาจใช้เส้นผม เชี่ยนหมาก เศษจีวรของเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงผสมลงไปด้วย เพื่อเพิ่มความขลังแล้วจึงทำพิธีพุทธาภิเษกลงเลขยันต์ คือมีพิธีกรรมที่รวมการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การบริกรรมคาถาอาคมต่าง ๆ ในขณะทำพระเครื่องเวลาขึ้นชกมวยมักจะพกติดตัว โดยใช้พันไว้ในมงคล หรือผ้าประเจียด “นักมวยบางคนใช้อมไว้ในปากเวลาขึ้นชก วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะจะเป็นอันตรายแก่ตัวเองได้”

 

5. ตะกรุด

     ใช้แผ่นโลหะบางรูปสี่เหลี่ยม เช่น ทอง เงิน นาก ทองแดง หรือใบลาน และกระดาษสาลงเลขยันต์ คาถาอาคมเช่นเดียวกับลงผืนผ้าเพื่อทำประเจียด แล้วม้วนให้กลมตรงกลางเว้นช่องว่างสำหรับใช้สายเชือกร้อย “ใช้สำหรับคาดบั้นเอว คล้องคอ หรือคาดไว้ที่ต้นแขน” หากใส่ในมงคลหรือประเจียดมักจะใช้ตะกรุดขนาดเล็ก

 

6. พิสมร

     ทำด้วยแผ่นโลหะหรือใบลานรูปสี่เหลี่ยม ลงเลขยันต์มีที่ร้อยสาย แต่โดยมากไม่ม้วนให้กลมอย่างตะกรุด ซึ่งต้องผ่านพิธีกรรมเช่นเดียวกับตะกรุด

 

7. พิรอด

     ทำด้วยกระดาษสา หรือถักด้วยหวายผ่านพิธีกรรมแล้วลงรักปิดทองเรียกว่า “กำไลพิรอด” ใช้สวมต้นแขน หรือแหวนพิรอดใช้สวมนิ้ว หากเป็นกำไลพิรอดชนิดงู 2 ตัว กลืนหางซึ่งกันและกันจนตายทั้งคู่เช่นเดียวกับการทำมงคล “นับว่าเป็นของวิเศษเพราะหายาก และเชื่อว่ามีอานุภาพมาก”

 

8. ว่าน

     คือพืชที่มีสรรพคุณหลายอย่าง บางชนิดใช้ในการรักษาพยาบาล ใช้รับประทานรักษาโรคบางชนิด ใช้ทารักษาแผล รักษาผิวหนัง บางชนิดห้ามรับประทานเพราะเป็นพิษ “บางชนิดเชื่อว่าทำให้ผิวหนังทนความร้อน หรือหนังเหนียว จึงนิยมนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง โดยการปลุกเสกคาถาอาคมเช่นเดียวกับเครื่องรางของขลังชนิดอื่น” ใช้พกติดตัวใส่ในมงคลประเจียด หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำพระเครื่อง บางคนใช้แช่น้ำดื่มก็มี

 

9. คาดเชือก

     การคาดเชือกเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของมวยไทย คือ การคาดเชือกที่มือโดยใช้ด้ายดิบที่จับเป็นไจ(รวมเส้นด้าย) ขนาดโตเท่าดินสอดำ ต่อกันเป็นเชือกยาวประมาณ 20 -25 เมตร ม้วนแยกไว้ 2 กลุ่ม ใช้พันสันหมัดและข้อมือ ความยาวต่างกันตามความต้องการของประเภทนักมวย

     การคาดเชือกจะช่วยให้กระดูกนิ้วมือไม่เคล็ดง่าย และทำให้หมัดแข็ง น้ำหนักหมัดมีความหนักแน่นกว่าหมัดธรรมดา แต่ถ้าพันหนามาก  จะทำให้ชกอืดอาด  บางสำนักครูอาจารย์จะเป็นผู้พันด้ายดิบให้นักมวย พร้อมบริกรรมคาถาพร้อมกันไป  บางแห่งก็จะทำพิธีปลุกเสกลงคาถาอาคมในด้ายดิบ  บางอาจารย์ใช้ด้ายตราสังศพมาใช้พันมือของนักมวย

     คุณลักษณะพิเศษของการคาดเชือก คือ วิธีการคาดสามารถบอกภูมิลำเนาของสำนักมวยได้ว่าเป็นนักมวยมาจากถิ่นใด  และบอกถึงลักษณะการใช้หมัดและการใช้ศอกว่าเป็นอย่างไร เช่น “มวยโคราช” เป็นนักมวยเตะและต่อยวงกว้าง จะคาดหมัดถึงข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะ ส่วนมวยลพบุรี เป็นที่เลื่องชื่อว่ามวย “หมัดตรง” ไม่กลัวเตะเพราะรู้เชิงป้องกัน การคาดเชือกจึงเพียงครึ่งแขน ส่วนมวยภาคใต้ “มวยไชยา” ถนัดใช้ศอกและแขน การคาดเชือกจึงเลยข้อมือไม่มากนัก เพื่อกันเคล็ดเท่านั้น เนื่องจากจะใช้ศอกในการกระแทกลำตัว หากบางคนต้องการพันด้ายขนาดยาวเพราะต้องการใช้หมัดบังหน้าด้วย

 

     “เครื่องรางของขลังทั้งหมดนี้ รวมเรียกว่าเครื่องคาด คือ ใช้ผูกหรือคาดที่ศีรษะ แขน เอวเป็นต้น” บางแห่งเคี้ยวหมาก ซึ่งถือเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งเช่นกัน โดยเกจิอาจารย์จะเป็นผู้จัดทำ และลงคาถาอาคมให้นักมวยเคี้ยว เพื่อต่อสู้ศัตรูคนไทยสมัยก่อนมีความเชื่อถือในเรื่องของไสยศาสตร์ เช่น คาถาอาคม ความอยู่ยงคงกระพัน และเรื่องของจิตวิญญาณกันมาก นอกจากเครื่องรางของขลังดังกล่าวแล้ว ถ้าหากต้องการให้คาถาอาคมติดกาย หนังเหนียว มีความอดทนไม่เจ็บปวดก็จะให้เกจิอาจารย์สักอักขระแห่งเครื่องหมายไสยเวทบนผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน เพราะเชื่อว่าศาสตราวุธทั้งหลายไม่สามารถทำอันตรายได้ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องต่อสู้กับศัตรู ก็จะใช้ท่องภาวนาคาถากำกับอีกครั้งตามที่เกจิอาจารย์ได้สั่งสอนไว้ เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ สร้างสมาธิให้จิตแน่วแน่มั่นคง เวทมนตร์คาถาที่ใช้จึงเป็นในทางคุ้มภัย เมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน เชื่อว่าสามารถสร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งเป็นการป้องกันหากคู่ต่อสู้ใช้อาถรรพเวทก็จำเป็นต้องใช้เวทมนตร์คาถาถอนแก้การกระทำยำยี บำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้เสื่อมสลายไปในทันทีทันใด

     นี่ก็เป็นเครื่องรางของขลังในมวยไทยที่นักมวยมักจะนิยมใช้ทุกครั้งเมื่อต้องขึ้นชก แต่อย่างไรก็ตามมักอยู่ที่ความเชื่อของคน เพราะก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคในการชกด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันนี้นักมวยทุกคนก็ยังต้องมีเครื่องรางของขลังติดตัว เพราะนักมวยจะเชื่อกันว่าพกติดต่อแล้วรู้สึกปลอดภัย เพราะของขลังที่ได้มาแต่ละชิ้นนั้นล้วนมาจากเกจิอาจารย์ที่ตนเองนับถือ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ตนเองมีที่พึ่งทางใจ

     และถ้าหากคุณกำลังมองหาสถานที่ฝึก มวยไทย หรืออยากเรียนมวยไทย มาฝึกกับเราได้ที่ เจริญทองมวยไทยยิม ( Jaroenthong Muay Thai Gym ) กับสาขาที่ใกล้และสะดวกที่สุด ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 สาขา (สาขารัชดา, สาขาข้าวสาร, สาขาศรีนครินทร์)

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

กติกาสังเวียนมวยไทย

5 สายเด็ด แม่ไม้มวยไทย



บทความที่น่าสนใจ

เฟิร์มหุ่น ด้วยมวยไทย เจริญทองมวยไทยรัชดา
รวมท่า น็อคเอ้าท์ แบบฉบับ มวยไทย