รู้หรือไม่ทำไมต้องรำมวยก่อนชก

รู้หรือไม่!! ทำไมต้องรำมวยก่อนชก

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

รู้หรือไม่ทำไมต้องรำมวยก่อนชก



รู้หรือไม่!! ทำไมต้องรำมวยก่อนชก

รู้ไหมทำไมถึงต้องมีการรำไหว้ครู แล้วทำไมต้องมีท่าทางต่างๆ ต้องบอกก่อนเลยว่า การทำความเคารพก็เป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของคนไทยมาดั่งเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการรำไหว้ครูที่เป็นจารีตประเพณีสำคัญในการแสดงความเคารพและยังเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งผู้เรียนฝึกฝนจะต้องมีการขึ้นครู เป็นสิ่งแรกด้วยเช่นกัน

 

     พูดง่ายๆว่าเป็นการฝากตัวเป็นศิษย์-อาจารย์ อยู่ในโอวาทย์ ของครูบาอาจารย์ แสดงถึงความความนอบน้อม ยอมรับเพื่อที่จะเรียนรู้ความกล้าหาญ และการเตรียมพร้อมในการที่จะฝึกฝนไปในขั้นต่อๆไป นักมวยจะต้องมีครู และต้องเคารพและเทิดทูนครู เพราะว่าการที่ครูยินยอมที่จะรับผู้ใครเป็นศิษย์นั้น ในอดีตกาลนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะในสมัยนั้นครูที่เป็นมวย มีฝีมือไม่ได้มีอยู่มากมาย และในการสอนไม่ได้คิดค่าบริการสอน แต่หากใครที่ต้องการจะเรียนจะต้องฝากเนื้อฝากตัวกับครู คอยปรนนิบัติอยู่เป็นเวลานาน จนกว่าจะได้รับการถ่ายทอดวิชาจนครบถ้วน เพราะสาเหตุครูมวยกับศิษย์ในสมัยก่อนนั้นจึงมีความสนิทใจราวกับพ่อกับลูก

 

     การไหว้ครูก่อนที่จะมีการแข่งขันมวยไทยเป็นข้อแตกต่างจากกีฬาอื่นๆ โดยเฉพาะ "คิกบ็อกซิง" (kick boxing) ที่ได้มีการลอกเลียนแบบการชกมวยของไทย แทบจะเหมือนกันทุกอย่างเพียงแต่ไม่ให้ใช้ศอกในการชกบนสนามและไม่มีการไหว้ครูก่อนเริ่ม ดังนั้น ในการรำไหว้ครูจึงถือเป็นจุดเด่น และเอกลักษณ์ของกีฬามวยไทยอย่างแท้จริง

 

ยศ เรืองสา ได้กล่าวถึงข้อควรปฏิบัติของผู้ฝึกมวย ในหนังสือ ตำรามวยไทยตำรับพระเจ้าเสือว่า นักมวยมีข้อพึงปฏิบัติดังนี้

 ๑) จงทำตนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

๒) จงสุภาพต่อคนทั่วไป

๓) จงเป็นผู้มีสันติธรรมไม่พาลเกเร

๔) จงเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น

๕) ต้องเป็นผู้มีมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อต่อทุกสิ่ง

๖) จงเป็นผู้เสียสละต่อหมู่ชน เมื่อประเทศชาติต้องการ

๗) จงสร้างแก่นแท้ของจิตใจให้แกร่งกร้าวเยี่ยงเหล็กเพชร

๘) จงเป็นผู้เห็นธรรมในหลักพระพุทธศาสนา และมีศีลธรรมประจำใจ

๙) ต้องเป็นคนตรงต่อเวลา รักชื่อเสียงและค่ายคณะของตน

๑๐) ต้องออกกำลังกายอยู่เสมอเป็นประจำ

๑๑) ต้องไม่เอาเปรียบคู่ต่อสู้ในทางผิดกติกา และศีลธรรม

๑๒) ต้องเคารพกฎหมายของบ้านเมือง

นอกเหนือจากการขึ้นครูก็จะมีการครอบครู นั้นหมายถึง การที่ศิษย์ได้ศึกษาศิลปะมวยไทยจนหมดสิ้นแล้ว และสามารถถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้อื่นได้ ก็จะทำพิธีครอบครูให้ 

 

ประโยชน์จากการร่ายรำไหว้ครู

การไหว้ครูสื่อความหมายให้เห็นคุณค่าด้านวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย มีคุณประโยชน์มากมายทางด้านจิตใจของนักมวยและผู้ชมมวย  ดังนี้

 

๑) ปลูกฝังนิสัยให้เป็นมวย คือ รู้จักรัก เคารพครูอาจารย์ บิดามารดา ผู้ให้กำเนิดมวยไทย

๒) ปลูกฝังจิตสำนึกให้ตระหนักในคุณค่าของศิลปะมวยไทย เกิดความรักและหวงแหนที่จะอนุรักษ์ให้คงไว้สืบไป

๓) เป็นกิจกรรมเผยแพร่เอกลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมประจำชาติได้อย่างสง่างาม สมศักดิ์ศรี

โดยหัวใจหลักๆของการร่ายรำไหว้ครู คือ การระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทวิชา และระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาให้รอดพ้นจากภัยอันตราย ส่วนการร่ายรำถือเป็นการแสดงถึงความฮึกเหิม ไม่เกรงกลัวคู่ต่อสู้ และเป็นการอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสายไปด้วยในตัว รวมทั้งได้ดูชั้นเชิงคู่ต่อสู้ ดูสถานที่ในการหลบหลีก ขณะเข้าโรมรันพันตูกับคู่ต่อสู้

 

การร่ายรำไหว้ครู 

 

ท่ายืน ไหว้ทิศขวา

ยืนขึ้นย่างสามขุม หมุนไปทิศเบื้องขวา ไหว้ทิศเบื้องขวา ร่ายรำท่านกยูงรำแพน ปฏิบัติตามนี้ ๓ ครั้ง

ท่ายืน ไหว้ทิศซ้าย

ยืนขึ้นย่างสามขุม หมุนไปทิศเบื้องซ้าย ไหว้ทิศเบื้องซ้าย ร่ายรำท่าหงส์เหิน ปฏิบัติตามนี้ ๓ ครั้ง

ท่ายืน ไหว้ด้านหน้า-หลัง

ยืนขึ้นย่างสามขุม หมุนไปทางขวาจนไปถึงด้านหลัง ไหว้ทิศเบื้องหลัง พยักหน้า ๓ ครั้ง ทำท่าดูดัสกร ร่ายรำท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง หมุนไปทางขวา ก้าวเท้าชิด ไหว้ทิศเบื้องหน้า

 

ในการไหว้ครูนั้นนับเป็นศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่มีความงดงามและเอกลักษณ์ของไทยและขาดไม่ได้เลยนั่นคือการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ ในปัจจุบันอาจจะหาดูได้ไม่ยากในทีวี ไม่ว่าจะเป็นช่องมวยไทย 7 สี แต่หากเป็นการแสดงและการสืบสานวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ อาจจะหาดูได้น้อยแล้ว กลับกันที่ชาวต่างชาติกลับให้ความสำคัญกับมวยไทยของเราอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่มีการออกอาวุธที่คม สวยงาม ยังถือเป็นการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อให้ดูดีและยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย ศิลปวัฒนธรรมของไทยอย่างมวยไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก และทั่วโลกต่างให้การยอมรับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สารานุกรมไทย



บทความที่น่าสนใจ

รวมท่า น็อคเอ้าท์ แบบฉบับ มวยไทย
ศิลปะมวยไทย ที่ผสมผสานกับการออกกำลังกาย