ทำความรู้จักกับ “มวยไทย” แต่ละสมัย

ทำความรู้จักกับ “มวยไทย” แต่ละสมัย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

ทำความรู้จักกับ “มวยไทย” แต่ละสมัย



มวยไทย (Muaythai) เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมวยไทย ถูกเรียกว่า "ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9" (Art of Nine Limbs) เพราะมีการต่อสู้โดยใช้อาวุธบนร่างกาย 9 อย่าง (นวอาวุธ) คือ หมัด 2, ศอก 2, เข่า 2, เท้า 2 และ หัว 1แต่ในปัจจุบันกติกามวยไทยได้ตัดการใช้หัวโขกออกไป จึงกลายเป็น “ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8” (Art of Eight Limbs) แทน

 

  • มวยไทยสมัยกรุงสุโขทัย

     ในสมัยกรุงสุโขทัย มวยไทยถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้กษัตริย์เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม ดังความปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงส่งเจ้าชายร่วงโอรสองค์ที่สองไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี หรือการที่พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม โดยมีความข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทย และการใช้อาวุธอย่างดาบ หอก มีด โล่ ธนู

 

  • มวยไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา

     สมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มประมาณ พ.ศ.1988 - 2310 รวมระยะเวลา 417 ปี ในระหว่างนั้นบ้างก็มีศึกกับประเทศใกล้เคียง ทำให้เหล่าชายฉกรรจ์สมัยกรุงศรี ต้องฝึกฝนความชำนาญในการต่อสู้ด้วยอาวุธและศิลปะป้องกันตัวด้วยมือเปล่า หรือ มวยไทย นั่นเอง

 

     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้น โดยให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือในการชกมวยไทยเข้าต่อสู้กันหน้าพระที่นั่ง แล้วคัดเลือกผู้มีฝีมือเลิศไว้เป็นทหารสนิท และทหารรักษาพระองค์ เรียกว่า "ทหารเลือก" สังกัดกรมมวยหลวง มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ภายในพระราชวังหรือตามเสด็จในงานต่าง ๆ รวมถึงเป็นครูฝึกมวยไทยให้ทหารและพระราชโอรส

 

     ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2147 - 2233) “มวยไทย” เป็นที่นิยมกันอย่างมากจนกลายเป็นอาชีพ มีค่ายมวยเกิดขึ้น ซึ่งมวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน ใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า มวยคาดเชือก นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้กำหนดขนาดรูปร่างหรืออายุ โดยมีกติกาง่าย ๆ ว่าชกจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้

 

  • มวยไทย สมัยกรุงธนบุรี

     บ้านเมืองอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศหลังจากการกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยในสมัยนี้เป็นการฝึกเพื่อการสงครามและการฝึกทหารอย่างแท้จริง การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรี นิยมจัดนักมวยต่างถิ่น หรือลูกศิษย์ต่างครูชกกัน โดยไม่มีกฎกติกาการแข่งขันอย่างชัดเจน ไม่มีคะแนน ทำการชกจนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ สังเวียนนั้นเป็นลานดิน และในยุคนี้มีนักมวยฝีมือดีมากมายเกิดขึ้น

 

  • มวยไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 5 กษัตริย์ไทยทรงโปรดการกีฬา เช่น กระบี่กระบอง มวยไทย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดกีฬามวยไทยเป็นอย่างมาก พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทย จึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มี มวยหลวง ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ฝึกสอน จัดการแข่งขัน และควบคุมการแข่งขันมวยไทย ในปี พ.ศ.2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ให้มวยไทยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนครูฝึกหัดพลศึกษา และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในสมัยนี้เป็นที่ยอมรับว่า คือ ยุคทองของมวยไทย

 

     ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มวยไทยได้มีการฝึกฝนกันไปตามสำนักต่าง ๆ มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งการชกในสมัยนี้ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในไทย การชกกันในสมัยหลัง ๆ จึงสวมนวมชกกันอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

 

     จะเห็นได้ว่า “มวยไทย” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป หากใครสนใจอยากเรียนมวยไทย สามารถเรียนได้ที่ “เจริญทอง มวยไทย ยิม” (Jaroenthong Muay Thai) มีทั้งหมด 3 สาขา คือ ข้าวสาร รัชดา และศรีนครินทร์ ใครใกล้ที่ไหนก็เลือกเรียนที่นั่นนะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก educatepark



บทความที่น่าสนใจ

สุดยอดต้นแบบ นัก มวยไทย หญิง
รู้หรือไม่ทำไมต้องรำมวยก่อนชก