มวยไทย 5 สาย มีอะไรกันบ้าง ?

มวยไทย 5 สาย มีอะไรกันบ้าง ?

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

มวยไทย 5 สาย มีอะไรกันบ้าง ?



มวยไทยมีหลักพื้นฐานเดียวกัน คือ การใช้หมัด เท้า เข่า ศอก และศีรษะ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นได้มีการพัฒนาความสามารถและความถนัดในเชิงมวยที่แตกต่างกันออกไป และได้มีการเปรียบเปรยความสามารถเชิงมวยของท้องถิ่นต่าง ๆ ออกเป็น 5 สาย “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา ครบเครื่องพลศึกษา” มาดูกันดีกว่าว่า 5 สายนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

1. มวยลพบุรี

     มวยลพบุรีนั้น ถือเป็นมวยไทยภาคกลาง เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี คือ เป็นมวยที่ชกฉลาด มีการรุกรับที่คล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงแม่นยำ เรียกว่า “มวยเกี้ยว” หมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้ โดยใช้กลลวงมากมาย เคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อ หลบหลีกได้ดี สายตาดี รุกรับและออกอาวุธหมัด เท้า เข่า ศอกได้อย่างรวดเร็ว สมกับฉายา “ฉลาดลพบุรี” และเอกลักษณ์อีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มีการพันมือครึ่งแขน แต่ที่แปลกและเด่นกว่ามวยสายอื่น ๆ คือ การพันคาดทับข้อเท้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยลพบุรี 

 

     ในส่วนของกระบวนท่าของมวยไทยสายลพบุรีนั้น พบว่า มีด้วยกัน 16 กระบวนท่า ซึ่งเป็นกระบวนท่าที่ผสมกลมกลืนจากการหล่อหลอมและเลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิง และ ช้าง ที่มีอยู่มากในเมืองลพบุรี และครูมวย นักมวยไทยสายลพบุรีที่ควรรู้จัก ได้แก่ ครูดั้ง ตาแดง, ครูนวล หมื่นมือแม่นหมัด, นายซิว อกเพชร, นายแอ ประจำการ, นายเย็น อบทอง, นายเพิก ฮวบสกุล, นายจันทร์ บัวทอง, นายชาญ ศิวา-รักษ์, นายสมทรง แก้วเกิด และครูประดิษฐ์ เล็กคง ซึ่งบุคคลเหล่านี้นับได้ว่าเป็น มวยไทยสายลพบุรี เป็นประวัติศาสตร์ของมวยไทย ที่เป็นมวยท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรสยาม มีอายุถึง 1,356 ปี มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณี

 

     การแข่งขันมวยไทยสายลพบุรี มีกติกาการชก กำหนด 5 ยก โดยใช้ยกเวียน การหมดยกใช้กะลาเจาะรูใส่ในโหล เมื่อกะลาจมน้ำถือว่าหมดยก การต่อสู้ใช้อวัยวะได้ทุกส่วนของร่างกาย การเปรียบมวยอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ชก ไม่เกี่ยงน้ำหนักหรืออายุ การไหว้ครูเหมือนการไหว้ครูสายอื่น ๆ โดยทั่วไป

 

2. มวยโคราช

     มวยโคราชนั้น ถือเป็นมวยไทยภาคอีสาน เอกลักษณ์ของมวยโคราช คือ สวมกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชก มีการพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยโคราช เป็นมวยชกหมัดวงกว้างหนักหน่วง ที่เรียกว่า “หมัดเหวี่ยงควาย”  สมกับฉายา “หมัดหนักโคราช ซึ่งการพันเชือกเช่นนี้เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยนั่นเอง

 

     ในส่วนของกระบวนท่าของมวยไทยสายโคราชนั้น พบว่า มีการฝึกตามขั้นตอน และเมื่อเกิดความคล่องแคล่วจะทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ท่าฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ซึ่งได้แก่ ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า ท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า

 

     วิธีจัดการชกมวยโคราช นิยมจัดชกในงานศพที่ลานวัด ในเรื่องของการเปรียบมวยจะให้ทหารตีฆ้องไปตามหมู่บ้านแล้วร้องบอกให้ทราบโดยทั่วกัน และเมื่อเปรียบได้แล้วให้นักมวยมาชกประลองฝีมือกันก่อน หากฝีมือทัดเทียมกันก็ให้ชกแล้วนัดวันมาชก ซึ่งในการเปรียบมวยโคราช ไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน หากพอใจก็ชกกันได้ ส่วนรางวัลการแข่งขันจะเป็นสิ่งของเงินทอง แต่หากเป็นการชกหน้าพระที่นั่ง รางวัลที่ได้รับจะเป็นหัวเสือและสร้อยเงิน

 

     ในสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 มวยไทยโคราช เป็นช่วงที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ นักมวยฝีมือดี ได้แก่ นายแดง ไทยประเสริฐ หรือ หมื่นชงัดเชิงชก, ครูบัว  นิลอาชา (วัดอิ่ม), นายทับ จำเกาะ, นายยัง หาญทะเล, นายตู้ ไทยประเสริฐ, นายพูน  ศักดา เป็นต้น

           

3. มวยไชยา

     มวยไชยานั้น ถือเป็นมวยไทยภาคใต้ เป็นศิลปะมวยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เอกลักษณ์ของมวยไชยา มีอยู่ 7 ด้าน การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม การไหว้ครูร่ายรำ การพันมือแบบคาดเชือก การแต่งกาย การฝึกซ้อมมวยไชยา และแม่ไม้มวยไชยา

 

     กระบวนท่าของมวยไชยามีทั้งหมด 5 ชุด คือ แม่ไม้มวยไทยไชยา 7 ท่า ได้แก่ ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด กระโดดตบศอก พันหมัดพลิกเหลี่ยม เต้นแร้งเต้นกา ย่างสามขุม ท่าที่สำคัญคือท่า “เสือลากหาง” เคล็ดมวยไชยาการป้องกันตัว และจะเป็นการป้องกันตัวแบบ 4 ป. คือ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” และนอกจากการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก แล้วยังมีวิชาการต่อสู้เช่น การ ทุ่ม ทับ จับ หัก” อีกด้วย ซึ่งสมกับฉายา “ท่าดีไชยา” นั่นเอง และมวยไชยาจะคาดเชือกแค่ข้อมือเท่านั้น

 

4. มวยท่าเสาและพระยาพิชัย

     มวยท่าเสา ถือเป็นมวยไทยภาคเหนือ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นครูมวยคนแรก แต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ ครูเมฆ เอกลักษณ์ของมวยท่าเสา คือ การจดมวยกว้างและให้น้ำหนักตัวไปทางด้านหลัง เท้าหน้าสัมผัสพื้นเบา ๆ ทำให้ออกมวยได้ไกล รวดเร็ว และรุนแรง สมกับฉายา “ไวกว่าท่าเสา” ส่วนกลยุทธ์มวยพระยาพิชัยดาบหักเป็นทั้งมวยอ่อนและแข็ง สามารถรุกรับตามสถานการณ์ รู้วิธีรับก่อนรุก เรียนแก้ก่อนผูก เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและคู่ต่อสู้

 

     ครูมวยท่าเสาที่มีความสามารถ ได้แก่ ครูเมฆ, นายทองดี ฟันขาว, ครูเอี่ยม, ครูเอม, ครูอัด คงเกตุ, ครูโต๊ะ, ครูโพล้ง, ครูฤทธิ์, ครูแพ, ครูพลอย, นายประพันธ์ เลี้ยงประเสริฐ, นายเต่า คำฮ่อ (เชียงใหม่) และนายศรี ชัยมงคล

 

     กระบวนท่าของมวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัยนั้น พบว่า มีกระบวนท่าการชก 15 ไม้ การเตะ 10 ไม้ การถีบ 10 ไม้ การตีเข่า 10 ไม้ และการศอก 10 ไม้ ส่วนในเรื่องของระเบียบประเพณีของมวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย ต้องมีการขึ้นครูหรือยกครู การไหว้ครูประจำปี การครอบครู และการรำไหว้ครูก่อนชก

 

     เมื่อครูที่มีชื่อเสียงทั้งหลายเริ่มถึงแก่กรรม ทำให้มวยไทยสายท่าเสาได้ลดบทบาทลง และมีมวยสายอื่น ๆ เข้ามามากขึ้น มวยไทยสายครูเมฆแห่งท่าเสาเริ่มถูกลบเลือนไป เอกลักษณ์ของมวยสายท่าเสาอาจจะสูญสิ้นไปหากไม่มีการอนุรักษ์มวย ลาวแกมไทย ตีนไวเหมือนหมาเอาไว้

 

5. มวยพลศึกษา

     มวยพลศึกษา ได้ก่อกำเนิดมาพร้อมกับการจัดตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เพื่อจัดเป็นสถานที่การออกกำลังกาย สำหรับประชาชนทั่วไป และได้มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปรมาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยสายพลศึกษาที่มีชื่อเสียงคือ อาจารย์สุนทร ทวีสิทธิ์ หรือ อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยที่มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญหมัด ซึ่งศึกษามาจากหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ซึ่งได้ทรงศึกษาการชกมวยสากลของประเทศไทย จนได้ชื่อว่าเป็นบิดามวยสากลของประเทศไทย นอกจากหมัดแล้วยังเน้นความเร็ว จังหวะเข้า- ออกที่คล่องแคล่วว่องไว เรียกได้ว่ามวยพลศึกษาเป็นมวยครบเครื่อง สมกับฉายา “ครบเครื่องพลศึกษา”

 

     เอกลักษณ์ของมวยไทยสายพลศึกษา พบว่า มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ เอกลักษณ์ด้านการแต่งกาย เอกลักษณ์ด้านการไหว้ครูและร่ายรำมวยไทย เอกลักษณ์ด้านการเรียนการสอน ส่วนในเรื่องของกระบวนท่าของมวยไทยสายพลศึกษา จะประกอบไปด้วย กลวิธีการใช้หมัด กลวิธีการใช้เท้า กลวิธีการใช้เข่า กลวิธีการใช้ศอก แม่ไม้มวยไทย และลูกไม้มวยไทย ในเรื่องของระเบียบประเพณีของมวยไทย จะมีพิธีการขึ้นครูหรือการยกครู พิธีการไหว้ครู และเครื่องดนตรีประกอบ

 

     ด้วยความที่มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณซึ่งแบ่งออกเป็น 5 สาย คือ มวยไทยสายไชยา มวยไทยสายโคราช มวยไทยสายลพบุรี มวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย และมวยไทยสายพลศึกษา แต่ละสายมีทั้งเอกลักษณ์ กระบวนท่า ระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ที่ควรค่าแก่การรักษาสืบไว้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก educatepark



บทความที่น่าสนใจ

ระเบิดอารมณ์ ผ่อนคลาย ระบาย ด้วย มวยไทย ( Muay Thai )
นายขนมต้ม ที่สุดแห่งตำนานมวยไทย บรมครูแห่งวงการมวย