ลีลาของมวยไทย

ลีลาของมวยไทย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

ลีลาของมวยไทย



มวยไทย (Muay Thai) ศิลปะการต่อสู้ที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก มีเอกลักษณ์ และเป็นวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ต่อสู้โดยใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธ

 

     การฝึกมวยไทย ต้องอาศัยความพยายาม ความอดทนต่อความเจ็บปวด การฝึกต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิดความชำนาญ สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 9-10 ปี โดยการเรียน การฝึกมวยไทยนั้น จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนอย่างหนักทั้งร่างกายและใจ โดยต้องฝึกให้นักมวยทุกคนมีจริยธรรมและคุณธรรม มีน้ำใจนักกีฬา บังคับยับยั้งอารมณ์ตนเองได้ มีสติ สมาธิ และใช้ไหวพริบปฏิภาณ ไม่เช่นนั้นอาจเสียเปรียบคู่ต่อสู้

 

ลักษณะลีลาของมวยไทย มี 2 ลักษณะ

1. มวยหลัก หรือ มวยแข็ง

     หมายถึง นักมวยที่มีวิธีการต่อสู้อย่างรัดกุม สุขุมรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นท่าคุมมวย และการจดท่ามวยอย่างมั่นคง การเคลื่อนไหวแต่ละก้าวเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ผลีผลาม ดูคล้ายจะเชื่องช้า ไม่คึกคะนอง แต่ใช้ทุกอย่างในร่างกายอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสายตา การย่างเข้าหาคู่ต่อสู้ เป็นมวยรอจังหวะเข้าทำ ตอนที่ฝ่ายตรงข้ามรุกเข้ามาก่อน แล้วตัวเองจึงฉวยโอกาสเข้าทำ ได้ทั้งน้ำหนักรุนแรง และแม่นยำ

     ลักษณะประเภทมวยหลัก จะถูกฝึกสอนให้ตั้งรับ และรอจังหวะ มีความสุขุมเยือกเย็น มีลำหักลำโค่นดี ใช้ศิลปะมวยไทยได้หนักหน่วง รุนแรง และแม่นยำ เหมาะกับคนที่มีรูปร่างใหญ่ และใจเย็น

 

2. มวยเกี้ยว หรือ มวยอ่อน

     หมายถึง นักมวยที่ใช้ชั้นเชิงในการต่อสู้แหลมคม แพรวพราว มีไหวพริบปฏิภาณรวดเร็วในการแก้ปัญหา การเข้าทำคู่ต่อสู้ จะไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนตัวไปมาทั้งซ้ายและขวาสลับกัน จะใช้กลลวงหลายรูปแบบ ทำให้คู่ต่อสู้จับทางมวยยาก มวยเกี้ยวจะมีลีลาท่าทางที่แคล่วคล่องว่องไว ลูกหลอกลูกล่อ หลบหลีกได้ดี มีสายตาดี เวลารุกหรือรับรวดเร็ว เข้าทำในระยะประชิด ด้วยความเด็ดขาด

     ลักษณะประเภทมวยเกี้ยว จะถูกฝึกถึงขั้นต้องเยื้องย่างในน้ำ ตีให้น้ำกระเซ็น ห้ามหลับตา แรงต้านของน้ำจะช่วยให้เมื่ออยู่บนบกจะสามารถรุกรับ ออกอาวุธได้อย่างรวดเร็วทั้งเท้า เข่า ศอก และหมัด เหมาะสำหรับคนที่มีรูปร่างเล็ก ผอมเพรียว

 

     ไม่ว่าจะมวยหลักและมวยเกี้ยวต่างมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยมวยหลักจะมีความรุนแรงในการใช้เท้า เข่า ศอก ส่วนมวยเกี้ยวจะใช้ เท้า เข่า หมัด ศอก ได้รวดเร็วกว่าแต่ไม่รุนแรงเท่ามวยหลัก ลีลามวยไทยทั้งสองนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจของแต่ละคน สำหรับผู้ที่รูปร่างสันทัด ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป สามารถฝึกฝนในลักษณะผสมผสานระหว่างมวยหลักและมวยเกี้ยวควบคู่กันไปได้ โดยมีทั้งความว่องไวและรุนแรงในการใช้เท้า เข่า หมัด ศอก

 

     การฝึกฝนมวยไทยที่ดี ควรฝึกหลายรูปแบบ แม้ว่าจะใช้เวลายาวนานและใช้ความอดทนมหาศาล แต่หากได้ฝึกหัดติดต่อกันจะทำให้ มีระบบและมีทักษะที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน  สนใจเรียนมวยไทย เจริญทอง มวยไทย ยิม (Jaroenthong Muay Thai)

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก muaythaionlines



บทความที่น่าสนใจ

มวยไทย ( Muay Thai ) เอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย ที่คุณควรรู้จัก
ประเภทของกีฬา มวยไทย Muay thai