ศิลปะกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย

ศิลปะกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

ศิลปะกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทย



การใช้อวัยวะในร่างกายเป็นอาวุธพร้อมกับการเคลื่อนไหวทั้งการรุกและรับ นับเป็นการต่อสู้ที่มีศิลปะแต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ต้องเรียนรู้ แม่ไม้มวยไทย เสียก่อน เพราะเป็นท่าพื้นฐานของการใช้ไม้มวยไทยที่สำคัญ

 

     แม่ไม้มวยไทย คือ การผสมผสานการใช้อาวุธ หมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อการรุกหรือรับในการต่อสู้มวยไทย ซึ่งการจะใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยได้อย่างชำนาญนั้น จะต้องฝึกฝนการใช้ หมัด เท้า เข่า ศอก เบื้อต้นให้คล่องแคล่วเสียก่อน จากนั้นจึงหัดใช้ผสมผสานกันไป รวมถึงการหลบหลีก จึงได้มีการดัดแปลงให้ง่ายต่อการนำไปใช้ ด้วยการตั้งชื่อท่ามวยตามลักษณะท่าทางให้จดจำได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

แม่ไม้มวยไทยที่สำคัญ ได้มีการจัดแบ่งไว้ 15 ท่า หรือ 15 ไม้ดังนี้

1. สลับฟันปลา (รับวงนอก)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้หลักหรือไม้ครูเบื้องต้น ใช้ป้องกัน ใช้รับและหลบหลีกอาวุธของคู่ต่อสู้ โดยหลบออกวงนอก นอกลำแขนของคู่ต่อสู้ ทำให้หมัดตรงของผู้ชกเลยหน้าไป

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดตรงซ้าย พร้อมกับตัวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า หมายชกบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ
  • ฝ่ายรับ - ก้าวเท้าขวาหลบไปทางกึ่งขวา 1 ก้าว พร้อมทั้งโน้มตัวเอนไปทางขวาประมาณ 60 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา ขาขวางอเล็กน้อย ศีรษะและตัวหลบออกวงนอกของหมัดฝ่ายรุก ใช้มือขวาจับกำคว่ำที่แขนท่อนบน ของฝ่ายรุก มือซ้ายจับกำหงายที่ข้อมือของฝ่ายรุก (ท่าคล้ายจับหักแขน)

     การถ่ายเทของทั้งสองท่า มีการเคลื่อนไหวร่างกายและแขนในลักษณะสลับฟันปลา เป็นการป้องกันก่อนที่จะหาโอกาสตอบโต้ในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป

 

2. ปักษาแหวกรัง (รับวงใน)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้มวยใช้ป้องกันและตอบโต้ เมื่อคู่ต่อสู้เข้าปล้ำและกอดรัด แม่ไม้นี้เป็นไม้ครูของการเข้าสู่วงใน เพื่อใช้ลูกไม้อื่น ๆ ต่อไป

  • ฝ่ายรุก - ชกใบหน้าฝ่ายรับด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าสืบไปข้างหน้า เฉียงไปทางกึ่งซ้ายเล็กน้อยภายในแขนซ้ายของฝ่ายรุก ตัวเอนประมาณ 30 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าซ้ายพร้อมงอแขนทั้ง 2 ขึ้น ปะทะแขนท่อนบนและท่อนล่างของฝ่ายรุกไว้โดยเร็ว หมัดของฝ่ายรับทั้งคู่ชิดกัน (คล้ายท่าพนมมือ) ศอกกางประมาณ 1 คืบ ศีรษะและใบหน้ากำบังอยู่ระหว่างแขนทั้งสอง ตาคอย ชำเลืองดูหมัดขวา ของฝ่ายรุก

 

3. ชวาซัดหอก (ศอกวงนอก)

     แม้ไม้นี้ เป็นไม้มวยที่ใช้ป้องกันหมัดคู่ต่อสู้ เป็นหลักสำหรับหลบหมัดตรงออกทางวงนอกและตอบโต้ด้วยศอก

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดตรงซ้ายยังบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าเอนตัวไปทางกึ่งขวา ตัวเอนประมาณ 30 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวาพร้อมรีบงอแขนซ้าย ใช้ศอกกระแทก ชายโครงใต้แขนซ้ายของฝ่ายรุก

 

4. อิเหนาแทงกฤช (ศอกวงใน)

     แม่ไม้นี้ เป็นหลักใช้รับหมัดชกตรงด้วยการใช้ศอกเข้าคลุกวงใน

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า ตัวเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อยตัวเอนประมาณ 60 องศา น้ำหนักตัวอยู่บน เท้าซ้าย งอศอกขวา ขนานกับพื้น ตีระดับชายโครงฝ่ายรุก ตอบด้วยแขนซ้าย

 

5. ยกเขาพระสุเมรุ (ต่อยตั้งหมัดต่ำก้มตัว 45 องศา)

     แม่ไม้นี้ ใช้รับหมัดตรงในลักษณะก้มตัวเข้าวงใน ให้หมัดผ่านศีรษะไป แล้วชกเสยคาง

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าขวาพร้อมกับย่อตัวต่ำเข้าหาฝ่ายรุก งอเข่าขวา ขาซ้ายตึง ย่อตัวต่ำเอนไปข้างหน้าประมาณ 45 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนขาขวา พร้อมยืดเท้าขวายกตัวเป็นแหนบ พร้อมกับพุ่งหมัดชกขวาเสยใต้คางของฝ่ายรุก หน้าเงยดูคาง ของฝ่ายรุก แขนซ้ายกำบังอยู่ตรงหน้าเสมอคาง

 

6. ตาเถรค้ำฟัก (ต่อยคางหมัดสูงก้มตัว 60 องศา)

     แม่ไม้นี้ เป็นหลักเบื้องต้นในการป้องกันหมัด โดยใช้แขนเปิดขึ้นปัดหมัดที่ชกมาแล้วต่อยหมัดสวนที่ปลายคาง

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้าของฝ่ายรุก ทางกึ่งขวาของวงหมัดภายในของฝ่ายรุกที่ชกมา งอเข่าซ้าย เล็กน้อยใช้หมัดซ้าย ชกใต้คางของฝ่ายรุก แล้วใช้แขนยวาที่งอป้องหมัดซ้ายฝ่ายรุกที่ชกมาให้พ้นตัว

 

7. มอญยันหลัก (รับต่อยด้วยถีบ)

     แม่ไม้นี้ เป็นหลักสำคัญในการรับหมัดด้วยการใช้เท้ายันหรือถีบเข้าที่ยอดอก หรือ ท้อง

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - ผลักตัวเอนไปทางขวา เอนตัวหนีฝ่ายรุกประมาณ 45 องศา ยืนบนเท้าขวา แขนทั้ง 2 งออยู่ตรงหน้า เหลียวดูฝ่ายรุกพร้อมยกเท้าซ้ายถีบที่ยอดอก หรือท้องน้อยของฝ่ายรุกให้กระเด็นห่างออกไป

 

8. ปักลูกทอย (รับเตะด้วยศอก)

     แม่ไม้นี้ใช้เป็นหลักในการรับ การเตะกราด การเตะเฉียง โดยใช้ศอกกระแทกเข้าที่หน้าแข้ง

  • ฝ่ายรุก - ยืนตรงหน้าพอได้ระยะเตะ ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ จากขวาไปซ้าย โน้มตัว เล็กน้อย งอแขนทั้ง 2 ป้องกันตรงหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบผลักตัวไปทางซ้าย พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายฉากไปข้างหลัง ใช้แขนขวางอศอกขึ้นรับเท้าของฝ่ายรุกที่เตะมา แขนซ้ายงอป้องกันอยู่ตรงหน้าสูงกว่าแขนขวาเพื่อป้องกันพลาดถูกใบหน้า

 

9. จระเข้ฟาดหาง (รับต่อยด้วยเตะ)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้มวยที่ใช้ตอบโต้คู่ต่อสู้ โดยใช้ส้นเท้าฟาดไปทางด้านหลัง เมื่อคู่ต่อสู้พลาดแล้วเสียหลัก จึงหมุนตัวเตะด้วยลูกเหวี่ยงส้นเท้า อาจทำให้ไตพิการได้

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าขวากระโดดไปทางกึ่งขวา ให้พ้นหมัดฝ่ายรุก แขนงอกำบังตรงหน้าแล้วใช้เท้าซ้าย เป็นหลักหมุนตัว เตะด้วยส้นเท้าขวาบริเวณท้องหรือคอ

 

10. หักงวงไอยรา (ถองโคนขา)

     ไม้นี้ใช้ เป็นไม้มวยใช้แก้การเตะ โดยตัดกำลังขา ด้วยการใช้ศอกกระทุ้งเข้าที่โคนขา

  • ฝ่ายรุก - ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังชายโครงของฝ่ายรับ งอแขนทั้ง ๒ บังอยู่ตรงหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าขวาเข้าหาฝ่ายรุกตรงหน้าเกือบประชิดตัว ข้างตัวไปทางซ้าย เข่าขวางอ เท้าซ้ายเหยียดตรง ทันใด เอามือซ้ายจับเท้าขวาของฝ่ายรุก ต้องพยายามยกขาฝ่ายรุกให้สูง กันฝ่ายรุกใช้ศอกถองศีรษะ

 

11. นาคาบิดหาง  (บิดขาจับตีเข่าที่น่อง)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้มวยใช้รับการเตะ การถีบของคู่ต่อสู้ โดยใช้มือทั้งสองจับปลายเท้าบิด พร้อมกับใช้เข่า กระทุ้งหรือกระแทกขา เพื่อให้หักหรือเดาะ

  • ฝ่ายรุก - ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ แขนทั้ง ๒ งออยู่ตรงหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบผลักตัวไปทางซ้าย ยืนบนเท้าซ้าย มือซ้ายจับส้นเท้าของฝ่ายรุก มือขวาจับที่ปลายเท้าบิดออกนอกตัว ทันใดนั้น รีบยกเข่าขวาตีที่น่องของฝ่ายรุก

 

12. วิรุณหกกลับ (รับเตะด้วยถีบ)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้มวยใช้รับการเตะ โดยใช้ส้นเท้ากระแทกที่บริเวณโคนขา ทำให้เคล็ดจนขาแพลงไป

  • ฝ่ายรุก - ยกเท้าซ้ายเตะกลาง ลำตัวบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ
  • ฝ่ายรับ - รีบยกเท้าซ้ายถีบไปที่ บริเวณโคนขาซ้ายของฝ่ายรุกพร้อมยกแขน ทั้งสองกันด้านหน้า การถีบนั้นต้องถีบให้เร็ว และแรงถึงขนาด ฝ่ายรุกหมุนกลับเสียหลัก

 

13. ดับชวาลา (ปัดหมัดต่อยตอบ)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้มวยใช้แก้การชกด้วยหมัดตรง โดยชกสวนที่ใบหน้า เข้าสู่บริเวณใบหน้าหรือลูกตา

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายไปยังบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า แขนขวาคุมบริเวณ ปลายคาง
  • ฝ่ายรับ - ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้ากึ่งขวาหลบอยู่นอกหมัดซ้ายของฝ่ายรุก เอี้ยวตัวไปทางขวา ปัดและกดแขนซ้าย ของฝ่ายรุกที่ชกมา ให้เอนไปทางซ้าย กดให้ต่ำลง ทันใดรีบใช้หมัดซ้ายต่อย บริเวณปากครึ่งจมูกครึ่ง หรือที่เบ้าตา ของฝ่ายรุก แล้วพุ่งตัวโดด ไปทางกึ่งขวา

 

14. ขุนยักษ์จับลิง (รับ-เตะ-ต่อย-ถอง)

     แม่ไม้นี้ เป็นไม้สำคัญมาก เรียกว่า รวมไม้ ใช้ป้องกันคู่ต่อสู้ที่ไวในการต่อย เตะ และศอกติดพันกัน การฝึกแบ่งออกเป็น 3 ตอน

ตอนที่ 1

  • ฝ่ายรุก - ชกหมัดซ้ายตรงไปยังใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
  • ฝ่ายรับ - รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเท้าเข้าหาตัวฝ่ายรุกตรงหน้า แขนขวาปัดแขนซ้ายฝ่ายรับให้พ้นจากตัว

ตอนที่ 2

  • ฝ่ายรุก – ยกเท้าขวาเตะกราดบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ
  • ฝ่ายรับ – รีบโยกตัว ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังราวกึ่งซ้าย ย่อตัวใช้ศอกขวากระแทกที่ขาขวาท่อนบนของฝ่ายรุก

ตอนที่ 3

  • ฝ่ายรุก - งอแขนขวาโน้มตัวกระแทกศอกที่ศีรษะของฝ่ายรับ
  • ฝ่ายรับ – รีบยืดตัว งอแขนขึ้นให้แขนท่อนบนปะทะแขนท่อนล่างของฝ่ายรุก แล้วรีบผลักตัว ก้าวเท้าขวาไปทางหลังประมาณครึ่งก้าว

 

15. หักคอเอราวัณ (โน้มคอตีเข่า)

     แม่ไม้นี้ เป็นเป็นไม้มวยใช้บุกจู่โจมในขณะที่คู่ต่อสู้เดินมวยเข้าหาแล้วงอเข่าหน้ามากเหมือนบันได ให้เดินขึ้นไปเหยียบแล้วเข่าเหมือนก้าวขึ้นบันได แล้วต่อด้วยตีศอกที่กลางศีรษะ

  • ฝ่ายรุก - ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า หมัดขวาคุมอยู่บริเวณคาง
  • ฝ่ายรับ - ก้าวเท้าซ้ายสืบไปตรงหน้าฝ่ายรุกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกแขนขวาสอดปัดแขนซ้ายของฝ่ายรุก แล้วโดด เข้าเหวี่ยงคอฝ่ายรุก โน้มลงมาโดยแรง แล้วตีด้วยเข่าบริเวณใบหน้า

 

     ลองฝึกท่าแม่ไม้มวยไทยกันดูนะคะ ถ้าฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญแล้ว จะได้ไปฝึกลูกไม้มวยไทย กันต่อค่า

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก educatepark



บทความที่น่าสนใจ

คุณค่าของการเรียน มวยไทย
7 ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกมวยไทย